ค่าส่วนกลางคืออะไร? เป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
ค่าส่วนกลาง หรือ Maintenance Fee/Common Fee คือ ค่าใช้จ่ายที่นิติบุคคลของโครงการที่อยู่อาศัยเรียกเก็บจากลูกบ้านหรือเจ้าของร่วมในโครงการทุกคน ไม่ว่าจะอยู่อาศัย หรือใช้สิ่งอำนวยความสะดวกหรือไม่ก็ตาม เพื่อนำไปบริหารจัดการและดูแลพื้นที่ส่วนกลางของโครงการที่ลูกบ้านหรือเจ้าของร่วม ใช้ร่วมกัน ตั้งแต่สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ที่จอดรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทำความสะอาดภายในและภายนอกอาคาร ค่าจ้างแม่บ้าน ค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย ค่าดูแลสิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ เพื่อสร้างความปลอดภัย ความสะอาด ความสะดวกสบาย สภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้อาศัย ตลอดจนการป้องกันและซ่อมบำรุงอาคารและสถานที่
ค่าส่วนกลางคำนวณจากอะไร ทำไมแต่ละบ้านถึงจ่ายไม่เท่ากัน?
ค่าส่วนกลางจะถูกคำนวณจากอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ของห้องชุดหรือโฉนด ยิ่งขนาดห้องหรือพื้นที่บ้านยิ่งเยอะ ค่าส่วนกลางก็จะยิ่งสูงตาม หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีขนาดห้องหรือบ้านที่กว้างก็จะเสียค่าพื้นที่ส่วนกลางมากนั่นเอง
การคำนวณค่าส่วนกลางง่ายๆ โดยใช้ ค่าส่วนกลางต่อตารางเมตร x กับขนาดของห้อง(ตารางเมตร)
ยกตัวอย่าง
- อัตราค่าส่วนกลางคอนโดอยู่ที่ 45 บาท/ตารางเมตร/เดือน
- ขนาดห้องอยู่ที่ 35 ตารางเมตร
เท่ากับจะต้องจ่ายค่าส่วนกลาง 1,575 บาท/เดือน หรือ 18,900 บาท/ปี นั่นเอง
หากไม่จ่าย หรือ จ่ายค่าส่วนกลางล่าช้า จะเป็นอย่างไร?
แบ่งได้ทั้งหมด 2 กรณี
กรณีหมู่บ้านจัดสรร
- หากเลยกำหนดชำระในวันที่กำหนด จะต้องเสียค่าเบี้ยปรับการชำระล่าช้า ทั้งนี้อัตราเบี้ยปรับจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของนิติบุคคลในแต่ละโครงการ
- หากค้างชำระค่าส่วนกลาง 3 เดือน อาจถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น การถอดสิทธิ์ใช้คีย์การ์ดเข้าออกหมู่บ้าน การงดให้บริการเก็บขยะ สิทธิในการเข้าใช้พื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ห้องประชุม ฯลฯ
- หากค้างชำระค่าส่วนกลาง 6 เดือน นิติบุคคลมีอํานาจระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายใด ๆ ได้
- ค้างชำระค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือน มีสิทธิ์ถูกส่งยื่นฟ้องศาลได้ (ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ)
กรณีคอนโดมิเนียม
- หากเลยกำหนดชำระในวันที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับหรือเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามอัตราที่แต่ละนิติบุคคลได้กำหนดไว้ (จ่ายทั้งค่าส่วนกลางและเบี้ยปรับ) โดยการเรียกเก็บค่าส่วนกลางจะขึ้นอยู่กับรอบการชำระของแต่ละโครงการ เช่น รายเดือน หรือ รายปี เป็นต้น
- หากค้างค่าส่วนกลางเกินกว่า 6 เดือน จะเสียสิทธิการลงคะแนนในที่ประชุม ผู้ที่ไม่ชำระค่าส่วนกลางจะไม่สามารถมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องใด ๆ ได้ ถึงแม้จะสามารถเข้าร่วมฟังการประชุมใหญ่ได้ก็ตาม
- ไม่ได้รับ “ใบปลอดหนี้” เมื่อมีการซื้อ-ขาย หรือโอนกรรมสิทธิ์ใด ๆ เจ้าของต้องชำระค่าใช้จ่ายค้างชำระทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าส่วนกลาง เพื่อขอใบปลอดหนี้จากนิติบุคคลไปใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นเรื่องที่สำนักงานที่ดิน
- มีสิทธิ์ถูกยื่นเรื่องฟ้องศาลได้ (ขึ้นอยู่กับมติคณะกรรมการ)
สุดท้ายนี้ ค่าส่วนกลาง เป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญอย่างมากในการใช้ดูแลโครงการ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมก็ตาม เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราเสียไปจะถูกนำไปใช้ในการดูแลและพัฒนาส่วนกลางของโครงการให้ดูใหม่และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใคร แต่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อลูกบ้านและเจ้าของร่วมทุกท่าน ให้ได้รับความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ความสะอาด รวมถึงบริการที่ดีอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/ค่าส่วนกลางคิดจากอะไร-จ่ายแพงไปไหม
https://www.plus.co.th/articles/PLUS-3453/what-is-a-condominium-fee